รายละเอียดโครงการ
โครงสร้างงานโยธา
1. โครงสร้างใต้ดิน
โดยทั่วไปแล้ว การก่อสร้างแนวเส้นทางที่เป็นโครงสร้างใต้ดิน มีลักษณะเป็นการขุดเจาะอุโมงค์คู่ขนานกัน ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของอุโมงค์ประมาณ 6.30 เมตร และอุโมงค์มีระยะห่างกันประมาณ 6.30 เมตร หากในพื้นที่บางแห่งที่ฐานรากของสะพานข้ามคลองหรือข้ามถนนที่มีอยู่ไปกีดขวางการขุดเจาะอุโมงค์ หรือมีพื้นที่จำกัดสำหรับงานขุดเจาะอุโมงค์ ลักษณะการก่อสร้างแนวเส้นทางในพื้นที่ดังกล่าว อาจเป็นการขุดเจาะอุโมงค์คู่ซ้อนกัน หรือก่อสร้างเป็นโครงสร้างรูปกล่อง (Cut & Cover Structure)

อุโมงค์คู่ขนานแบบข้างเคียง และ อุโมงค์คู่ขนานแบบซ้อนกันในแนวดิ่ง

อุโมงค์โครงสร้างรูปกล่อง แบบขุดแล้วกลบกลับ

2. โครงสร้างยกระดับ
การก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ มีลักษณะเป็นสะพานยกระดับสำหรับวางรางรถไฟฟ้า และมีเสารองรับสะพานยกระดับทุกระยะ 30 -40 เมตร โดยส่วนของตัวสะพานเป็นโครงสร้างที่ใช้วิธีการก่อสร้างแบบชิ้นส่วนหล่อสำเร็จรูปในโรงงาน แล้วนำมาประกอบติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว

โครงสร้างยกระดับบนเสาตอม่อเดี่ยว

โครงสร้างยกระดับบนเสาตอม่อเดี่ยว

3. โครงสร้างสถานี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีรูปแบบสถานีรถไฟฟ้าทั้งแบบสถานีใต้ดิน และสถานียกระดับ โดยสถานีใต้ดิน มีจำนวน 10 สถานี และสถานียกระดับ มีจำนวน 7 สถานี ดังนี้
สถานี สถานี รูปแบบสถานี ตำแหน่งที่ตั้งสถานี
OR13 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใต้ดิน ตั้งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษกด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด รัชดาภิเษก (เป็นสถานีเชื่อต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล)
OR14 รฟม. ใต้ดิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ รฟม. บริเวณประตูด้านถนนพระราม 9
OR15 วัดพระราม ๙ ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนพระราม 9 บริเวณสี่แยกพระราม 9 – ประดิษฐ์มนูธรรม
OR16 รามคำแหง 12 ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขารามคำแหง
OR17 รามคำแหง ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง ด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
OR18 กกท. ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง ด้านหน้าสนามราชมังคลากีฬาสถาน
OR19 รามคำแหง 34 ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง ด้านหน้าโรงพยาบาลรามคำแหง
OR20 แยกลำสาลี ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง บริเวณสี่แยกลำสาลี (เป็นสถานีเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง)
OR21 ศรีบูรพา ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า สุขาภิบาล 3
OR22 คลองบ้านม้า ใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง บริเวณซอย 92 - 94
OR23 สัมมากร ยกระดับ ตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง บริเวณใกล้หมู่บ้านสัมมากร
OR24 น้อมเกล้า ยกระดับ ตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง ด้านหน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
OR25 ราษฎร์พัฒนา ยกระดับ ตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง ด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท มิสทีน
OR26 มีนพัฒนา ยกระดับ ตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง ด้านหน้าทางเข้าวัดบางเพ็งใต้ ตรงข้ามนิคม อุตสาหกรรมบางชัน
OR27 เคหะรามคำแหง ยกระดับ ตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง ด้านหน้าปากซอยรามคำแหง 184 ใกล้เคหะ รามคำแหง
OR28 มีนบุรี ยกระดับ ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหงด้านทิศใต้ บริเวณสะพานข้ามคลองสองต้นนุ่น (เป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู)
OR29 แยกร่มเกล้า ยกระดับ ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหงด้านทิศใต้ บริเวณใกล้แยกสุวินทวงศ์
1) สถานีใต้ดิน
การออกแบบสถานีใต้ดิน มีรูปแบบที่แตกต่างกันตามลักษณะของชั้นชานชาลาสำหรับผู้โดยสาร ซึ่งมีรูปแบบที่สำคัญ 3 ประเภท กล่าวคือ
ชานชาลากลาง ได้แก่สถานีที่มีชานชาลาเดียว โดยมีแนวรถไฟฟ้าอยู่แต่ละด้านของชานลา และมีชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารที่เป็นชั้นชานพักเดียวที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบทั่วไปของสถานีใต้ดิน

ชานชาลากลาง

ชานชาลาซ้อนกัน ได้แก่สถานีที่มีชานชาลาซ้อนกัน 2 ชั้น และมีชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารที่เป็นชั้นชานพักเดียวที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบสำหรับการก่อสร้างที่มีสิ่งกีดขวางการขุดเจาะอุโมงค์ หรือมีพื้นที่จำกัด ทำให้ต้องก่อสร้างแนวเส้นทางเป็นแบบอุโมงค์คู่ซ้อนกัน

ชานชาลาซ้อนกัน

ชานชาลาข้าง ได้แก่สถานีที่มีชานชาลา 2 ข้างของแนวรถไฟฟ้า และมีชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารที่เป็นชั้นชานพักเดียวที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบสำหรับบริเวณที่ก่อสร้างอุโมงค์เป็นโครงสร้างรูปกล่อง (Cut & Cover)

ชานชาลาข้าง

สถานีใต้ดินแต่ละแห่ง มีโครงสร้างสำหรับระบายอากาศที่หัวและท้ายสถานีเพื่อการระบายอากาศในพื้นที่ตัวสถานี และในกรณีมีเหตุเพลิงไหม้ โครงสร้างส่วนนี้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการเพื่อระงับเหตุได้ รวมทั้งยังช่วยในการอพยพผู้โดยสารให้ออกจากชั้นชานชาลาด้วย
2) ปล่องระบายอากาศ
ปล่องระบายอากาศ มีหน้าที่หลักคือใช้เป็นจุดระบายแรงดันอากาศภายในอุโมงค์ทางวิ่งออกสู่ภายนอก เนื่องจากอุโมงค์ทางวิ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวรถไฟฟ้าเล็กน้อย เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งอยู่ภายในอุโมงค์จึงมีลักษณะคล้ายกระบอกสูบที่เกิดแรงดันอากาศขึ้น จำเป็นต้องระบายแรงดันอากาศที่เกิดขึ้นดังกล่าวออกสู่ภายนอก นอกจากนั้นในด้านความปลอดภัย เมื่อตำแหน่งสถานีใต้ดินอยู่ห่างกันมากกว่า 1 กิโลเมตร จำเป็นต้องมีทางออกฉุกเฉินอย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อใช้เป็นจุดอพยพผู้โดยสารกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องจากการเดินรถ ซึ่งปล่องระบายอากาศก็ถูกใช้ในกรณีเช่นนี้
ตามแนวสายทางที่เป็นแบบอุโมงค์ใต้ดินของโครงการฯ มีจำนวนปล่องระบายอากาศตั้งอยู่รวมทั้งสิ้น 11 แห่ง

ปล่องระบายอากาศ

3) สถานียกระดับ
สถานียกระดับเกือบทุกแห่ง มีรูปแบบสถานีเป็นแบบชานชาลาข้าง และมีโครงสร้างสถานีเป็น 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารที่เป็นชั้นชานพัก สูงจากระดับถนนประมาณ 8 เมตร เหนือขึ้นไปเป็นชั้นชานชาลา สูงจากระดับ ถนนประมาณ 15 เมตร และตัวสถานีมีความยาวประมาณ 150 เมตร และมีความกว้างประมาณ 25 เมตร ซึ่งตัวสถานีรองรับด้วยเสาโครงสร้างที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางถนนทุกระยะประมาณ 30 เมตร
ทางขึ้น–ลงของสถานียกระดับ โดยทั่วไปมีจำนวน 4 แห่ง ตั้งอยู่ทุกมุมของสถานี และทางขึ้น–ลง ที่อยู่ตรงข้ามกัน ยังใช้เป็นทางข้ามถนนของประชาชนได้ด้วย

สถานียกระดับ